ชุมพรเป็นพื้นที่ที่เกิดวาตภัยและอุทกภัยบ่อยครั้ง ทั้งนี้คงมาจากที่ตั้งซึ่งตั้งอยู่ในช่วงที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมลายู เป็นจุดที่รับลมจากฝั่งอ่าวไทยโดยตรง และถ้าเกิดฝนตกหนักทางฝั่งอันดามัน น้ำจากทิวเขาตะนาวศรีและภูเก็ตก็จะไหลลงทางฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของ จ.ชุมพร ภัยธรรมชาติที่ชาวชุมพรยังคงจดจำได้จนทุกวันนี้ คือ วาตภัยจากพายุเกย์ในปีพ.ศ.๒๕๓๒ และพายุซีตาร์ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ จากเหตุการณ์ทั้งสองครั้งทำให้หน่วยงานราชการ บ้านเรือน และเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านได้รับความเสียหาย มีผู้คนบาดเจ็บและล้มตาย ถ้าหากไปสอบถามชาวชุมพรที่มีอายุ ๓๕ ปีขึ้นไป ก็สามารถบรรยายถึงเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพายุทั้งสองลูกได้เป็นอย่างดี
ก่อนหน้าเหตุการณ์พายุเกย์และซีตาร์มีวาตภัยและอุทกภัยเกิดขึ้นใน จ.ชุมพรบ่อยครั้ง ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เคยเกิดพายุถึง ๗ ครั้ง ในปี พ.ศ.๒๔๑๕, ๒๔๒๒, ๒๔๓๓, ๒๔๔๕, ๒๔๗๒, ๒๕๐๕, และ ๒๕๑๓ ครั้งที่มีความรุนแรงมาก คือ ในวันที่ ๑๑ ธันวาคม พ.ศ.๒๔๗๒ อำมาตย์เอกพระยาสัจจาภิรมย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น ได้บันทึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ความว่า
“พัดจนกระบือยืนไม่ได้ต้องมอบอยู่กับที่ และที่บ้านคอกม้า ตำบลบางสน อำเภอปทิว ซึ่งภูมิประเทศเป็นทุ่งและเป็นเนิน กระบือตัวหนึ่งได้ถูกพายุพัดล้มกลิ้งที่สุดก็ขาดใจตายในขณะนั้น แม้ในบริเวณกลางจังหวัดนี้เองก็ได้พบเห็นนกบ้าง ค้างคาวบ้าง ถูกพายุถึงตายหลายตัว ที่โรงเก็บรถโยกของรถไฟสถานีชุมพรลมได้พัดเอาที่เก็บไว้ในโรงเลื่อนข้ามทางรถไฟไปตกข้างทางรถไฟอีกทางหนึ่ง รถตู้ก็ถูกพายุพัดเลื่อนไปตามรางเหมือนกัน ภัยแห่งพายุคราวนี้มิได้มีแต่บนบก แม้ในน้ำก็ไม่อาจรอดพ้นอันตราย เช่น ปลากะพง ปลาฉลาม ปลากด ในทะเลอ่าวหน้าจังหวัดชุมพรตายเพราะความปั่นป่วนแห่งพายุด้วย...”
ไต้ฝุ่นได้พัดกระหน่ำอย่างหนักในพื้นที่ อ.ท่าตะเภา(อ.เมืองในปัจจุบัน)ในกลางวันของวันที่ ๑๑ ธันวาคม ต่อมาในวันที่ ๑๒ ธันวาคม ได้เกิดน้ำท่วม น้ำขึ้นสูงเต็มที่ในวันที่ ๑๔ ธันวนคม และค่อยๆลดระดับลงจนเข้าสู่สภาวะปกติในวันที่ ๑๗ ธันวาคม วาตภัยและอุทกภัยครั้งนั้นได้สร้างความเสียหายแก่อาคารสถานที่ต่างๆ เช่น พลับพลารับเสด็จ, เรือนจำ, สถานีรถไฟ และบ้านพักนายอำเภอ เป็นต้น
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่าพื้นที่ จ.ชุมพร ประสบกับวาตภัยและอุทกภัยบ่อยครั้ง ความเสียหายจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความรุนแรงของพายุที่เข้ามาแต่ละลูก ผลกระทบจากพายุแต่ละครั้งสร้างความเดือนร้อนให้แก่ทุกภาคส่วนโดยเฉพาะประชาชน ซึ่งจะต้องเสียเงินซ่อมแซมบ้านเรือนที่เสียหายจากวาตภัยและอุทกภัยครั้งแล้วครั้งเล่า
ในปี พ.ศ.๒๕๔๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้พระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดทำ “โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่” เพื่อเป็น แก้มลิงธรรมชาติใช้ในการรองรับน้ำ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อแก้ไขปัญหาอุทกภัยในจังหวัดชุมพร ตั้งแต่มีโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ทำให้ไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ อ.เมืองชุมพร อีกเลย ชาวชุมพรทุกคนจึงรู้สึกทราบซึ่งในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นอย่างยิ่ง
ขอขอบคุณ ข้อมูล พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร (เพิ่มเติมข้อมูลโดย ณัฐกานต์ พิภูษณกาญจน์)
ชุมพรเป็นพื้นที่ที่เกิดวาตภัยและอุทกภัยบ่อยครั้ง ทั้งนี้คงมาจากที่ตั้งซึ่งตั้งอยู่ในช่วงที่แคบที่สุดของคาบสมุทรมลายู เป็นจุดที่รับลมจากฝั่งอ่าวไทยโดยตรง และถ้าเกิดฝนตกหนักทางฝั่งอันดามัน น้ำจากทิวเขาตะนาวศรีและภูเก็ตก็จะไหลลงทางฝั่งตะวันออกซึ่งเป็นที่ตั้งของ จ.ชุมพร ภัยธรรมชาติที่ชาวชุมพรยังคงจดจำได้จนทุกวันนี้ คือ วาตภัยจากพายุเกย์ในปีพ.ศ.๒๕๓๒ และพายุซีตาร์ในปี พ.ศ.๒๕๔๐ จากเหตุการณ์ทั้งสองครั้งทำให้หน่วยงานราชการ บ้านเรือน และเรือกสวนไร่นาของชาวบ้านได้รับความเสียหาย มีผู้คนบาดเจ็บและล้มตาย ถ้าหากไปสอบถามชาวชุมพรที่มีอายุ ๓๕ ปีขึ้นไป ก็สามารถบรรยายถึงเหตุการณ์และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากพายุทั้งสองลูกได้เป็นอย่างดี
ขอขอบคุณ ข้อมูล พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ชุมพร (เพิ่มเติมข้อมูลโดย ณัฐกานต์ พิภูษณกาญจน์)