หลวงปู่บุญมา ปภากโร นอนพักรักษาตัวที่กุฎิขอหลวงปู่ ที่วัดถ้ำโพงพาง ต.หาดทรายรี อ.เมือง จ.ชุมพร โดยลูกศิษย์ และผู้ใกล้ชิด เฝ้าดูแล ปรนิบัติเป็นอย่างดี นับแรมปี จนกระทั้งวันที่ ๒ มกราคม ๒๕๖๑ เวลาประมาณ ๑๐.๓๐ น. หลวงปู่บุญมาได้ละสังขารไปสงบ ด้วยความชรา รวมสิริอายุได้ ๙๑ ปี ๑๖ วัน ๖๗ พรรษา
พื้นเพท่านเป็นชาวเมืองตรัง หมู่ที่ ๔ ต.นาบินหลา อ.เมือง ถือกำเนิดเมื่อวันพฤหัสบดีที่ ๑๖ ธ.ค. ๒๔๖๙ ต้นรัชกาลที่ ๗ ตรงกับปีขาล ขึ้น ๑๒ ค่ำ เดือน ๑ (เดือนอ้าย) อัฏฐศก จ.ศ.๑๒๘๘ ร.ศ.๑๔๕ อธิกมาส (๘ สองหน)โยมบิดาชื่อนายเฉจวน โยมมารดาชื่อนางพริ้ง นามสกุล “คงคูณ” เมื่ออายุ ๑๕ ปีได้เข้าบรรพชาเป็นสามเณรที่วัดใกล้บ้าน และได้ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยอย่างต่อเนื่อง ๕ ปี จนกระทั่งได้เข้าสอบธรรมสนามหลวงในระดับนักธรรมตรี,โท และเอก ตามลำดับ ในขณะบวชเณรได้ ๕ พรรษา มีอายุครบ ๒๐ บริบูรณ์ต้องเข้ารับการคัดเลือกทหาร และจับได้ใบดำต้องรับราชการทหารอยู่ ๒ ปี
หลังปลดประจำการได้ครองเรือนตามวิสัยฆราวาส จนมีอายุได้ ๒๕ ปี จึงอุปสมบทที่วัดปากจ่า ต.ควนโส อ.รัตภูมิ จ.สงขลา เมื่อปีพ.ศ.๒๔๙๔
พระครูพิทักษ์ธรรมคุณ (เลี่ยน จันทสโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์พร้อม เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระอาจารย์คล้าว กตปุญโญ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้ฉายาว่า “ปภากโร” หลังจากนั้นได้เน้นร่ำเรียนทางกรรมฐานทั้งสมถะ และวิปัสสนาโดยตรง จนเข้าพรรษาที่๘ ในขณะมีอายุได้ ๓๓ ปีจึงออกธุดงค์ไปตามจังหวัดต่างๆ
ในช่วงที่ท่านธุดงค์ไปที่เขาชัยสน จ.พัทลุง ในคืนหนึ่งขณะนั่งสมาธิได้นิมิตเห็น ในบริเวณป่าเขาที่อยู่ไม่ไกลจากที่นั่งนี้มีเหวลึก ในเหวนั้นมีพระพุทธรูปปางไสยาสน์และเจดีย์อยู่ รุ่งเช้าท่านจึงเดินทางไปดูตามนิมิตก็เห็นเป็นจริงตามนั้น
อีกครั้งหนึ่งหลังจากท่านนั่งสมาธิตามปกติ เมื่อจิตหยั่งลงสู้สมาธิเป็น “เอกจิต”แล้ว ท่านได้เห็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔ เสด็จมาหา โดยพระองค์ได้ตรัสกับท่านว่า “ท่านบุญมามาอยู่ที่นี่แล้ว ไม่รู้อะไรดอกหรือ” ท่านได้ถวายพระพรถามไปว่า “มหาบพิตรมีอะไรดี ก็ขอบอกแก่อาตมาบ้าง” พระองค์ตรัสว่า “ถ้าอย่างนั้นก็คอยจดจำไว้ให้ดี ฉันจะบอกให้ คาถานี้เป็นคาถาศักดิ์สิทธิ์ที่ฉันได้ใช้มาตั้งแต่ยังผนวชเป็นพระภิกษุอยู่” ในนิมิตนั้น ท่านได้เห็นแผ่นป้ายหินชนวนขนาดใหญ่สีดำ
วัตถุมงคลรุ่นสุดท้าย ที่หลวงปู่ปลุกเสก ก่อนที่จะ มรณภาพ
รัชกาลที่ ๔ ได้เขียนพระคาถาให้ท่องจำซึ่งมีทั้งหมด ๑๑ พระคาถามีชื่อว่า “รัตตนัตตะยะปะภาวาภิยา จะนะคาถา” พระองค์ทรงใช้มาตั้งแต่ครั้งผนวชอยู่ที่วัดสมอราย (วัดราชาธิวาส) และเมื่อทรงย้ายมาเป็นเจ้าอาวาสวัดบวรนิวเศ ก็ทรงใช้เจริญภาวนามาจนถึงวันที่ทรงลาผนวชออกมาครองราชย์ และใช้ภาวนาสวดมนต์จนถึงวันสุดท้ายของพระชนม์ชีพ ทั้งนี้ หลวงปู่บุญมาท่านได้ยึดพระคาถาของรัชกาลที่ ๔ มาเป็นแนวปฏิบัติควบคู่ไปกับปฏิปทาของพระอาจารยืคือ หลวงปู่สงฆ์ วัดเจ้าฟ้าศาลาลอย จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาขอประชาชนชาวเมืองชุมพร และภาคใต้หลายจังหวัด
ในด้านวิชาอาคมท่านได้รับการถ่ายทอดจากหลวงปู่สงฆ์ และไปฝากตัวเป็นศิษย์ของพ่อท่านคล้าย วัดสวนขัน ส่วนการสร้างวัตถุมงคล เริ่มครั้งแรกเมื่อปีพ.ศ.๒๕๓๒ ที่สร้างชื่อเสียงและได้รับความนิยม อาทิ เสือหล่อกวัก,เหรียญเสมารุ่นแรก ,รูปเหมือน ฯลฯ วัตถุมงคลของท่านกล่าวขานว่า ดีทางคุ้มครองป้องกันภัย โดยเฉพาะในหมู่ชาวเล ต่างเชื่อมั่นในความศักดิ์สิทธิ์ เพราะช่วยให้รอดชีวิตกันมาจำนวนมาก
รวบรวม เรียบเรียง / พงษ์พัดชา ๒/๑/๖๑