ทรงมีพระราชดำรัสเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2540 เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาอุทกภัยของจังหวัดชุมพร ว่า “..เมื่อสองเดือนมีน้ำท่วมหนักในประเทศในหลายจังหวัด แต่ที่ดูรุนแรงที่สุดคือที่จังหวัดชุมพร โดยที่ยังไม่ถึงเวลาที่จะมีพายุไต้ฝุ่นและโซนร้อนมา ฝนลงจนทำให้น้ำท่วมเองชุมพรมีความเสียหายเป็นจำนวนมหาศาล ทำให้คิดถึงว่าน่าจะไปดูว่าทำไมเป็นอย่างนั้น ฝนตกมาและน้ำท่วมในเมือง เขาว่าบางแห่งก็สองเมตร ทำให้มีความเสียหายมากต่อทรัพย์สินของประชาชนและแม้แต่สิ่งของทางราชการ เช่น ที่โรงพยาบาล เครื่องเอกเซย์ถูกน้ำท่วมเสียหายไป
ฉะนั้น ถ้าจะลงทุนเพื่อที่จะป้องกันมิให้น้ำท่วมรุนแรงอย่างนั้นก็ควรหาวิธี ได้ส่งคนไปถ่ายรูปทางบก ทางอากาศ และเราก็ดูแผนที่ เห็นว่ามีที่แห่งหนึ่งที่ควรทำเป็นแก้มลิงได้โดยธรรมชาติ คือ มีหนองใหญ่ หนองใหญ่นั้นเป็นที่กว้างตามชื่อ แต่ว่าก็ไม่ใหญ่พอเพราะว่ามีการบุกรุกเข้าไปและตื้นเขิน ที่สำคัญมีคลองที่อยู่ใกล้หนองใหญ่นั้น แต่คลองนั้นยังตัน คือยังไม่ได้ขุดให้ตลอด เหลือระยะอีกกิโลเมตรครึ่งเศษๆ น้ำที่จะลงในคลองนี้เพื่อที่จะระบายออกทะเลมิให้หันวกมาท่วมเมืองลงทะเลยังไม่ได้ เลยถามว่าโครงการเขาจะขุดคลองนี้เสร็จเมื่อไร เขาบอกว่ามีงบประมาณแล้วแต่ยังไม่มา และว่าจะทำเสร็จในปีหน้าปี 2541 เลยนึกว่าจะต้องหาวิธีที่จะใช้ประโยชน์จากคลอง ซึ่งได้ลงทุนมากให้ได้ประโยชน์ในฤดูกาลที่จะมีพายุเข้ามา
เลยบอกเขาว่าจะขอสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ทั้งกรมชลประทาน ทั้งฝ่ายจังหวัด และมีบริษัทได้รับมอบหมายให้ทำ ให้เขารีบขุดและทำโครงการให้เสร็จภายในเดือนหนึ่ง แทนที่จะเป็นปีหนึ่งจะกลายเป็นเดือนหนึ่ง ได้รับรองเขาว่าต้องการสนับสนุน งานจึงเริ่มโดยทำการขุดและทำเป็นท่อ มีประตูน้ำที่จะทะลุออกไปในหนองใหญ่ เพื่อที่จะระบายน้ำลงคลอง บอกเขาว่าให้เวลาเดือนหนึ่ง เขาก็สั่นหัวว่างานนี้ต้องใช้เวลา เลยบอกกับเขาว่าขอสนับสนุนด้วยเงินที่ได้ส่วนหนึ่งของมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ เพื่ออุดหนุนให้สร้างประตูน้ำ ใส่ท่อและมีประตูน้ำจากหนองใหญ่ลงคลอง ส่วนการขุดคลองให้สำเร็จนั้นทางมูลนิธิชัยพัฒนาได้สนับสนุนเงิน 18 ล้าน ซึ่งทางราชการได้มอบเงินตามงบประมาณ ได้เมื่อไรก็ขอคืนแต่ไม่ทราบว่าทางราชการจะสนับสนุนเงินนี้หรือไม่ แต่ไม่เป็นไร มูลนิธิฯ ก็ยอมที่จะเสียประโยชน์ไปบ้าง …”
จังหวัดชุมพรจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานขึ้นวางแผนพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ให้เป็นแก้มลิงธรรมชาติที่สมบูรณ์แบบ เพื่อถวายเป็นราชสักการะเนื่องในวโรกาสที่ทรงมีพระชนมายุครบ 71 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2541 ต่อมาเมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2541 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เสด็จพระราชดำเนินทอดพระเนตรโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร และโครงการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเมืองชุมพร ได้พระราชทานพระราชดำริเกี่ยวกับงานชลประทานรวม 5 ข้อคือ
1.ควรพิจารณาก่อสร้างอาคารบังคับน้ำปิดต้นคลองและปลายคลองที่ขุดในบริเวณหนองใหญ่เพื่อเก็บน้ำไว้ให้ราษฎรใช้ทำการเกษตรในฤดูแล้ง
2.ควรจัดตั้งสถานีวัดน้ำระดับน้ำเพิ่มเติมพร้อมระบบเตือนภัยที่บริเวณต้นน้ำคลองท่าแซะซึ่งอยู่ในเขตอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เพื่อเร่งระบายน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตักทิ้งลงทะเลเป็นการล่วงหน้า จะทำให้หนองใหญ่สามารถรองรับน้ำที่ไหลหลากลงมาใหม่ได้อีกเป็นจำนวนมาก การรับน้ำหลากลงหนองใหญ่แล้วทยอยระบายทิ้งทะเล มีลักษณะเดียวกับลิงอมกล้วยไว้ที่กระพุ้งแก้มแล้วจึงค่อย ๆ กลืนกล้วยลงกระเพาะอาหาร
3.ควรพิจารณาขุดคลองหรือวางท่อเชื่อมต่อระหว่างคลองท่าแซะกับต้นคลองละมุ เพื่อชักน้ำจากคลองท่าแซะลงหนองใหญ่ให้ราษฎรบริเวณใกล้เคียงมีน้ำใช้ทำการเกษตร และอุปโภค-บริโภค และในฤดูน้ำหลากสามารถช่วยผันน้ำบางส่วนจากคลองท่าแซะลงแก้มลิง “หนองใหญ่” เพื่อระบายทิ้งทะเลผ่านทางขคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตักได้อีกด้วย
4.ควรติดตั้งเครื่องสูบน้ำที่บริเวณประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1, 2 และ 3 เพื่อช่วยสูบน้ำออกจากหนองใหญ่ลงคลองระบายน้ำหัววัง-พนังตัก ทิ้งลงทะเลในช่วงฤดูน้ำหลาก ทำให้สามารถลดปริมาณน้ำในคลองท่าตะเภาที่ไหลผ่านตัวเมืองชุมพรลงได้ในระดับหนึ่ง
5.ควรศึกษาหาปริมาณน้ำท่าที่แน่นอนที่ไหลในคลองท่าตะเภา ณ บริเวณบ้านปากแพรก (ด้านท้ายคลองท่าแซะบรรจบกับคลองรับร่อ) ตำบลนากระตาม อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาการแก้ไขปัญหาอุทกภัยที่เกิดกับเมืองชุมพร และเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2542 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ได้มีพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาแก่คณะบุคคลต่าง ๆ ที่เข้าเฝ้าถวายพระพร ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต เกี่ยวกับโครงการแก้มลิงหนองใหญ่เพิ่มเติม โดยให้พิจารณาขุดคลองละมุให้เชื่อมคลองท่าแซะกับหนองใหญ่เพื่อช่วยแบ่งน้ำส่วนหนึ่งจากคลองท่าแซะลงสู่หนองใหญ่ จากนั้นเมื่อระดับน้ำในคลองหัววัง-พนังตักลดระดับลงจึงค่อย ๆ ปล่อยน้ำจากหนองใหญ่ระบายลงคลองหัววัง-พนังตัก และไหลลงสู่ทะเล
ที่ตั้งของโครงการ : | บ้านเขาแรด หมู่ที่ 2 ตำบลบางลึก อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร |
| |
วัตถุประสงค์โครงการ : | 1.เพื่อบรรเทาปัญหาอุทกภัยในเมืองชุมพร 2.เป็นแหล่งน้ำสำรองสำหรับการเกษตรและผลิตน้ำประปาสำหรับชุมชนในอนาคต 3.เป็นการสร้างงานให้เกิดขึ้นในชุมชน |
| |
หน่วยงานผู้ดำเนินงาน /หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง : | กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
|
|
|
ลักษณะโครงการ : | 1.งานขุดคลองล้อมรอบพื้นที่หนองน้ำแบบไม่มีคันคลองทั้งสองด้าน ความลึกเท่ากับระดับ +2.00 (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) 2.งานขุดคลองเชื่อมระหว่างคลองล้อมรอบหนองน้ำและคลองท่าดินแดงซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของโครงการแบบไม่มีคันคลองทั้งสองด้าน ความลึกเท่ากับระดับ +2.00 (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) 3.งานขุดลอกคูน้ำริมคันคลองชลประทาน ความลึกเท่ากับระดับ +2.00 (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) 4.งานก่อสร้างประตูระบายน้ำ จำนวน 2 แห่ง ให้ระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่ระดับเก็บกัก +4.00 (ระดับน้ำทะเลปานกลาง) |
|
|
ผู้ได้รับประโยชน์ : | ราษฎรรอบพื้นที่โครงการ |
|
|
ผลการดำเนินงานและกิจกรรมโครงการ : | หนองใหญ่มีพื้นที่รับน้ำฝนประมาณ 102 กม.2 ประกอบด้วยคลองสาขา คือ คลองกรูด สามารถระบายน้ำได้ 30 ลบ.ม./วินาที คลองขี้นาค สามารถระบายน้ำได้ 30 ลบ.ม./วินาที และคลองละมุซึ่งรับน้ำบ่าและผันน้ำจากคลองท่าแซะรวมกัน สามารถระบายน้ำได้ 100 ลบ.ม./วินาที รวมเป็นน้ำที่ไหลลงหนองใหญ่ 160 ลบ.ม./วินาที ใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมง จะสามารถเก็บกักน้ำได้ถึงระดับ +4.780 เมตร (รทก.) ซึ่งเป็นระดับเก็บกักสูงสุดที่ทำให้ปริมาณความจุของหนองใหญ่เป็น 3 ล้าน ลบม. หากปริมาณน้ำมีมากเกินกว่าระดับเก็บกักก็จะระบายออกจากหนองใหญ่ทางช่องระบายน้ำฉุกเฉินเข้าสู่คลองหัววัง-พนังตัก ในการควบคุมเก็บกักและระบายน้ำของหนองใหญ่นั้นจะมีประตูระบายน้ำราชประชานุเคราะห์ 1, 2, 3 สามารถระบายน้ำได้ 20 ลบ.ม./วินาที ต่อ 1 แห่ง และ ทรบ.หนองใหญ่สามารถระบายน้ำได้ 60 ลบ.ม./วินาที ใช้เวลาในการระบายน้ำรวมกันจำนวน 3 ล้าน ลบ.ม. ประมาณ 6 ชั่วโมง หลักการทำงานของแก้มลิงหนองใหญ่ คือ รับน้ำจากคลองสาขามาเก็บไว้ในหนองใหญ่แล้วค่อยๆ ปล่อย โดยปตร.ราชประชานุเคราะห์ 1, 2, 3 และทรบ.หนองใหญ่เข้าสู่คลองหัววัง-พนังตักเพื่อระบายน้ำออกสู่ทะเลต่อไป และอีกกรณีหนึ่งหากไม่มีฝนตกในลุ่มน้ำคลองสาขาหนองใหญ ่และไม่มีน้ำจากคลองท่าแซะ แต่มีฝนตกในลุ่มน้ำคลองรับร่อเมื่อระบายน้ำเข้าสู่คลองหัววัง-พนังตัก สามารถเปิดปตร.ราชประชานุเคราะห์ และทรบ.หนองใหญ่นำน้ำเข้าไปเก็บไว้ในหนองใหญ่ เมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสมสามารถระบายน้ำที่เก็บไว้ในหนองใหญ่ออกสู่คลองหัววัง-พนังตักให้ระบายออกสู่ทะเลต่อไปได้ |
|
|
ความสำเร็จของโครงการ : | จากการดำเนินโครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ที่มีวัตถุประสงค์ของโครงการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากอุทกภัย และเป็นแหล่งน้ำสำรอง สำหรับการเกษตรของราษฎรแล้ว จังหวัดชุมพรเห็นว่าการพัฒนาเพื่อขยายผลโครงการเพื่อก่อให้เกิดการเรียนรู้ถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีต่อพสกนิกรชาวชุมพรโดยเฉพาะการนำแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่เครือข่ายจากภูผา สู่มหานที น้อมนำไปปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จ มาขยายผลเป็นศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเครือข่ายจากภูผา สู่มหานที มีเครือข่ายและศูนย์ฝึกอบรมทั่วทั้ง 8 อำเภอของจังหวัด ดำเนินการฝึกอบรมให้กับเกษตรกรในโครงการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และเกษตรกรผู้พักชำระหนี้ ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ในการขยายผลของศูนย์การเรียนรู้ได้นำความสำเร็จของการปฏิบัติมานำเสนอในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิตของแต่ละอำเภอ สำหรับในวันนี้จะขอหยิบยกผลสำเร็จมานำเสนอเพียงแค่ 4 อำเภอ ดังนี้ อำเภอพะโต๊ะ เป็นการอนุรักษ์ป่าต้นน้ำในรูปแบบคนอยู่ป่ายัง ซึ่งเป็นการดูแลรักษาป่าต้นน้ำของชุมชนร่วมกับภาครัฐโดยมีกฎระเบียบของชุมชนว่า จะต้องไม่มีการบุกรุกป่าเพิ่มเติม ให้ปลูกป่าเพิ่มเพื่อความมั่งคั่งยั่งยืน ไม่ปลูกพืชเชิงเดี่ยว มีการปลูกไม้เศรษฐกิจแซมในแปลงเกษตร เช่น ยางนา ตะเคียนทอง และมีการจัดสรรทรัพยากรน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด อำเภอหลังสวน ดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงครบวงจร ลดต้นทุน 90% โดยใช้ธรรมชาติเป็นตัวขับเคลื่อน เป็นการปฏิบัติและเปรียบเทียบวิธีคิด วิธีทำ ให้ลดต้นทุนด้วยตัวเอง โดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในพื้นที่ เช่น มูลวัว มูลไก่ ปลาป่น รำข้าว หัวเชื้ออีเอ็ม กากน้ำตาล นำมาผสมกัน จะได้ปุ๋ยอินทรีย์คุณภาพสูง โดยใช้เวลาในการหมักปุ๋ย 15 วัน สามารถลดต้นทุนได้ถึง 20,000 บาท/ตัน อำเภอทุ่งตะโก เป็นการทำการเกษตรแบบผสมผสานเน้นการใช้พื้นที่ในแปลงเกษตรให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า 100% โดยมีการปลูกพืชหลักและพืชแซมพร้อมกับเลี้ยงสัตว์ ช่วยเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน โดยเฉพาะการปลูกพืช 9 ชั้น เลียนแบบคอนโดมิเนียม ตั้งแต่ พืชน้ำ พืชหัว พืชผัก ไม้ยืนต้น และไม้เศรษฐกิจ ซึ่งการปลูกพืชผสมผสานระบบคอนโดจะช่วยป้องกันวัชพืชในแปลง ประหยัดพื้นที่/น้ำ/ปุ๋ย และประกันความเสี่ยงในด้านการลงทุน หากพืชชนิดใดชนิดหนึ่งไม่ให้ผลผลิต พืชชนิดอื่นที่เหลือ ก็จะสามารถทดแทนได้ ปัจจุบันการทำการเกษตรของลุงนิล (นายสมบูรณ์ ศรีสุบัติ) สร้างรายได้วันละประมาณ 700-1,000 บาท อำเภอปะทิว มีแนวคิดในการส่งเสริมให้คนชุมพรปลูกข้าวทำนา เพื่อการบริโภค โดยเฉพาะข้าวเหลืองปะทิว ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวนาพื้นเมืองของจังหวัดชุมพร และพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมือง ซึ่งสามารถปลูกได้ในพื้นที่ที่มีน้ำน้อย ทนต่อโรค โดยจังหวัดชุมพรมีพันธุ์ข้าวไร่พื้นเมืองอยู่ 9 สายพันธุ์ คือ พันธุ์ภูเขาทอง พันธุ์เล็บนก พันธุ์ดอกขาม พันธุ์นางเขียน พันธุ์สามเดือน พันธ์นางครวญ พันธุ์ข้าวดำ พันธุ์ข้าวเหนียวกาดำต้นดำ และพันธุ์ข้าวเหนียวกาดำต้นเขียว และเพื่อเป็นการรักษาพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของจังหวัดชุมพรไม่ให้สูญพันธุ์ จึงได้มีการปลูกไว้ที่หนองใหญ่ นับตั้งแต่เปิดศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอ เพียง โครงการพัฒนาพื้นที่หนองใหญ่ตามพระราชดำริ ในเดือนพฤศจิกายน 2552 จนกระทั่งถึงปัจจุบัน มีผู้เข้ามาศึกษาดูงานซึ่งเป็นคนจังหวัดชุมพรและจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้งสิ้น 194 คณะ จำนวน 15,409 คน จำแนกเป็น ประชาชนทั่วไป 4,314 คน และนักเรียน/นักศึกษา 11,095 คน โดยจังหวัดชุมพรจะดำเนินการพัฒนาและบริหารจัดการให้เป็นศูนย์เรียนรู้ตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่มีความสมบูรณร์ และสามารถถ่ายทอดการปฏิบัติให้เกิดความมั่งคั่งอย่างยั่งยืนแก่คนชุมพรต่อไป
|